ส.นักคิดเบี้ยประกันมึน คปภ. แก้กม. สั่ง ทำงานเต็มเวลา ร่วมรับผิดชอบบอร์ดบริหาร

 
คปภ.เข็นร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต ฉบับแก้ไข เปิดช่อง ส.นักคณิตศาสตร์ฯ แสดงความคิดเห็น ส่งกลับภายใน 20 พ.ค. เปิดเนื้อในกฎหมายกำหนดนักคณิตศาสตร์ฯนั่งประจำ "ทำงานเต็มเวลา" บริษัทละ 1 คน สั่งให้ทำหน้าที่ "ฟ้อง" นายทะเบียนหากพบผิดปกติ ชี้ละเว้นหน้าที่เจอคุก 3 ปี ด้านนักคณิตศาสตร์ประกันภัยส่ายหน้า เจอศึกหนักทั้งขึ้นทั้งล่อง
แหล่งข่าวจากสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (SOAT) กล่าวว่า ตอนนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ส่งหนังสือเวียน เรื่องขอความคิดเห็นเกี่ยวกับ "ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ... มาให้กับทางสมาคม เพื่อให้สมาชิกนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้เสนอความคิดเห็นต่อสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ ซึ่งทางสมาคมจะรอรับความคิดเห็นและรวบรวมส่งให้แก่ทาง คปภ. ในวันที่ 20 พ.ค.ต่อไป
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. ... ยังมีการตีความที่ไม่ชัดเจน และอาจจะมีนัยสำคัญถึงการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เช่น ประเด็นการกำหนดให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะต้องมีส่วนร่วมในการประชุมคณะกรรมการบริหารของบริษัทประกันภัย การลดมาตรฐานของนักคณิตศาสตร์ประกัน เนื่องจาก พ.ร.บ ประกันภัยฉบับปัจจุบันระบุว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะต้องผ่านการสอบใบอนุญาตระดับเฟลโล (Fellow) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด แต่ในร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังแก้ไขนี้ จะไม่มีระบุว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะต้องมีใบอนุญาตดังกล่าว
นอกจากนี้ มาตรา 37 ยังระบุให้บริษัทประกันจะต้องแต่งตั้งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยประจำบริษัทแบบ "ทำงานเต็มเวลา" จำนวน 1 คน ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่ถึง 20 คน ขณะที่บริษัทประกันภัยมีมากกว่า 100 บริษัท หากให้นั่งประจำบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้
"ร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยที่จะออกมาใหม่มีหลายจุดที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยกังวลใจ อย่างเรื่องที่ให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั่งประจำแต่ละบริษัท 1 คน ก็ทำได้แน่ ถ้า คปภ.จะลดมาตรฐานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยลง เช่น ไม่ต้องเป็นระดับเฟลโล และลดลงมาเป็นระดับแอสโซซิเอต (Associate) ก็พอ แต่สำหรับวงการประกันภัย การลดมาตรฐานไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะถ้าปรับมาตรฐานลงแล้ว การปรับมาตรฐานขึ้นอีกครั้ง บริษัทไหนจะยอมง่าย ๆ" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งคือ คปภ.น่าจะวางแผนงานให้ชัดเจนว่า จะมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับมาตรฐานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอย่างไรในระยะ 3 ปี หรือ 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่อยู่ระดับไหน และมีขอบเขตการทำงานอย่างไร เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีบางมาตราในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อวงการประกันภัยและนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้แก่ มาตรา 136 ที่ระบุหน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะต้องแจ้งนายทะเบียนทันที เมื่อเกิดสงสัยหรือเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับฐานะการดำเนินการของบริษัท, มาตรา 137 ที่ว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ทำตาม มาตรา 136 ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท (เว้นแต่เกิดจากความประมาท)
รวมไปถึงการกำหนดบทลงโทษนักคณิตศาสตร์เมื่อทำผิด เช่น จำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น ต้องการให้ตีความชัดเจนในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย เพราะนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
"อย่างมาตรา 136 ต้องการให้ตีความชัดเจน ถึงขั้นตอนและกระบวนการที่นักคณิตศาสตร์ฯควรแจ้งเรื่องแก่นายทะเบียน เนื่องจากคำว่า ฐานะการดำเนินการของบริษัท มีขอบเขตกว้างมาก อีกทั้งการแจ้งเรื่องในทันทีนั้น อาจขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทต้องมีการสืบสวนภายในบริษัทเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงด้วย ถ้ามาตรา 136 และ 137 ออกมาใช้จริง น่าจะมีผลต่อนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต่างประเทศจะไม่เข้ามาทำงานที่ไทยแน่นอน เพราะเห็นชัดว่าถูกตีกรอบให้มีความเสี่ยงเยอะขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย