อานนท์ รั้งโต้โผ ส.วินาศภัย ชูภารกิจสานงานเก่ารับแข่งดุ

 
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้จัดคัดเลือกคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ชุดใหม่ ทั้ง 21 คน หลังครบวารการทำงานปกติ 2 ปี จากนั้น อีก 1 สัปดาห์ถัดมา บอร์ดได้โหวตคัดเลือกให้ นายอานนท์ วังวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย (BKI) เป็นนายกสมาคมคนใหม่ แต่หน้าเดิม จากผลการอยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ปี หรืออีกวาระหนึ่ง
ท่ามกลางภารกิจเป้าหมายและบทบาทในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทยที่ค่อนข้างท้าทาย ภายใต้สถานการณ์แข่งเดือดอย่างเข้มข้นของภาคธุรกิจและโจทย์หินทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่นายอานนท์คนเดียวที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเหล่านั้น แต่ต้องขึ
เขากล่าวถึงบทบาทหน้าที่ที่ต้องขับเคลื่อนต่อจากนี้ไป ส่วนใหญ่เป็นการสานต่อภารกิจหลักที่ได้ทำมาก่อนหน้าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยอมรับว่ามีภารกิจที่สำเร็จลุล่วงไปเรื่องเดียว คือ ปัญหาการเคลียร์ค่าสินไหมจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 รวมมูลค่ากว่า 4.2 แสนล้านบาท
“แม้จะกินเวลานานกว่า 3 ปี และด้วยมูลค่าสินไหมที่ค่อนข้างสูงมาก แต่ตลอดช่วงที่ผ่านมา พบว่าสถานะทางการเงินของธุรกิจภัยประกันโดยรวมยังค่อนข้างแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการบริหารจัดการสินไหมได้เพียงพอ”
เรื่องที่ต้องสานต่อไปในวาระนี้ คือ การจัดทำฐานข้อมูลกลางในธุรกิจประกันภัยทั้งระบบ หรือดาต้าแวร์เฮาส์ (อินชัวรันส์บูโร) ซึ่งทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มาได้ประมาณ 1 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมฐานข้อมูลที่นอกเหนือจากฐานข้อมูลการประกันภัยรถยนต์
ล่าสุด ได้ขยายไปถึงการประกันภัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันภัยทางทะเล ฯลฯ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการจะวิเคราะห์ ปรับปรุง หรือจัดทำอัตราเบี้ยประกันภัยในอนาคตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งยอมรับว่าอาจจะค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย แต่เป็นประโยชน์สำหรับทุกภาคส่วนอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญที่จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนมิติในการแข่งขันของธุรกิจประกันภัยในระยะถัดไป คือ การเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีเบี้ยประกันภัย ซึ่งเฟสแรกจะพิจารณาเฉพาะเปิดเสรีเบี้ย ไม่ได้ควบคู่เปิดเสรีคอมมิชชัน เพราะประเมินแล้ว พบว่าประเทศไทยควรเปิดเฉพาะประเด็นเสรีเบี้ยก่อน ซึ่งน่าจะเหมาะกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของไทย ในขณะที่ประเทศอื่น อาจเปิดควบคู่กันไปทั้งสองด้าน
“ช่วงแรกๆ อาจเปิดเสรีเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจก่อน เพราะเป็นตลาดหลักและมีฐานเบี้ยค่อนข้างมากกว่าประเภทอื่น โดยจะนำเสนอว่าควรยกเลิกพิกัดอัตราเบี้ย เพื่อให้เหมาะกับภาวะธุรกิจที่แต่ละช่วงมีการแข่งขันรุนแรงมากน้อยต่างกันไป แต่ต้องหารือกับ คปภ.ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมธุรกิจด้วย”
ขณะที่เบี้ยประกันภัยภาคบังคับนั้น คงไม่ไปแตะ เพราะเป็นผลบังคับทางกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งล่าสุด ทางบอร์ด คปภ.ได้อนุมัติเพิ่มเติมในส่วนของวงเงินกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพเป็น 5 แสนบาท/ราย จากเดิม 2 แสนบาทและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มเป็น 1 แสนบาท/ราย จากเดิม 5 หมื่นบาท ซึ่งจะต้องเร่ง โดยจะต้องลงในรายละเอียดการปฏิบัติให้ชัดเจนและกว้างขวาง ตอบเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้ประสบภัยจากรถโดยรวม
เขากล่าวว่าสาเหตุอีกด้านหนึ่งที่ต้องปรับปรุงการเปิดเสรีอัตราเบี้ยประกันภัย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในเร็วๆนี้ เพราะต้องยอมรับว่าจะมีการแข่งขันที่หลากหลายมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยยังค่อนข้างได้เปรียบในแง่ของความเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดประกันภัยรถยนต์ในย่านอาเซียนก็ตาม แต่ประมาทไม่ได้ในอนาคต เพราะระบบเศรษฐกิจและตลาดจะเชื่อมโยงถึงกันหมด
ดังนั้น กฎระเบียบ หรือหลักปฏิบัติบางด้าน ถ้าได้รับการคลายตัว หรือทำให้ผ่อนปรนเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนตามมา เช่นเดียวกับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกันวินาศภัยฉบับใหม่ ซึ่งมีหลักการยกร่างเน้นไปที่การให้อำนาจบอร์ด คปภ.พิจารณาได้เองมากขึ้น เช่น เรื่องหลักการ วิธีปฏิบัติต่างๆ การกำกับส่งเสริมบางด้านให้ครอบคลุมทั้งธุรกิจ จากเดิมเป็นอำนาจของกฎหมายทั้งหมด
“ยกตัวอย่าง การพิจารณาขออนุมัติแบบกรมธรรม์ต่างๆ ควรเป็นไปให้เร็วขึ้น ไม่ต้องใช้เวลานาน ซึ่งอาจทำให้ไม่ค่อยทันต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆในธุรกิจ โดยในท้ายสุดย่อมมีผลต่อการแข่งขันกันเองในธุรกิจ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ทาง คปภ.จะพิจารณาเห็นสมควร”
สำหรับทิศทางของธุรกิจประกันวินาศภัยในปีนี้ สมาคมฯ ยังคงวางเป้าหมายคาดการณ์เติบโตที่ 2 เท่าของจีดีพีเศรษฐกิจ หรือราว 8-9%แม้ว่าล่าสุดหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจของประเทศได้ทยอยปรับลดเป้าหมายจีดีพีลงมาให้สอดคล้องกับภาวะชะลอตัวโดยรวม ทั้งใน-นอกประเทศก็ตาม แต่มุมมองของธุรกิจประกันวินาศภัย ยังให้น้ำหนักไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน
“แม้จะมีการปรับลดเป้าหมายจีดีพีลง ท่ามกลางภาวะชะลอทางเศรษฐกิจ จากปัจจัยลบหลายด้าน แต่ภาคประกันภัยยังหวังว่าราวไตรมาส 2 เป็นอย่างน้อย ทิศทางของธุรกิจน่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างตามแนวโน้มการลงทุนกระตุ้นของภาครัฐที่ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆออกมามากขึ้น จะทำให้เกิดการจับจ่ายและการบริโภคตามมา รวมทั้งภาคส่งออกน่าจะเห็นแนวโน้มดีขึ้น นอกเหนือจากภาคท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ เพราะธุรกิจประกันภัยต้องเติบโตภายใต้การเจริญเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆมาเกื้อหนุน” นายอานนท์ กล่าว.
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย