คปภ.เปิดแนวรุกบูรณาการทำงานร่วมกับ รฟท.

 
คปภ. เปิดแนวรุกบูรณาการทำงานร่วมกับ รฟท. หวังให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงระบบประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ย้ำอุบัติเหตุลดได้ถ้าไม่ประมาท แต่หากเกิดแล้วประกันภัยช่วยเยียวยาได้ผลเร็ว
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ระบบประกันภัยมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนทุกระดับ รวมถึงองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงและสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีนโยบายเชิงรุกตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 เพื่อเพิ่มบทบาทให้ระบบประกันภัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางรากฐานความเข้มแข็งของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการนำเอาระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง สำนักงาน คปภ. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการให้ความรู้ด้านประกันภัยกับหน่วยงานที่ให้บริการด้านสาธารณูปโภคต่างๆของภาครัฐ ให้เข้าใจถึงระบบประกันภัยที่จะเข้าไปบริหารความเสี่ยงภัยอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ดังนั้น สำนักงานคปภ.จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความรู้ และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เกียรติร่วมลงนาม ซึ่งมีกรอบดำเนินการร่วมกันใน 3 บทบาทหลัก กล่าวคือ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะให้การสนับสนุน สำนักงาน คปภ. ในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟได้ทราบถึงความคุ้มครองจากระบบการประกันภัย รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.จะให้คำปรึกษาแนะนำด้านข้อมูลและข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์ด้านการประกันภัยกับเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยและประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ ในขณะเดียวกันการรถไฟแห่งประเทศไทยและสำนักงาน คปภ. จะประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟเห็นความสำคัญและสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในการใช้เส้นทางสัญจรระบบรางของการรถไฟ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่จะมีความร่วมมืออย่างบูรณาการและเป็นระบบระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่นอกจากจะช่วยกันรณรงค์ให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังและไม่ประมาทแล้ว ในกรณีที่มีอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นระบบประกันภัยจะเข้าไปช่วยลดความเสี่ยงภัยให้กับองค์กรของรัฐที่ให้บริการขนส่งมวลชนอย่างเป็นระบบและครบวงจร และเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการนำระบบประกันภัยมาช่วยบริหารความเสี่ยง โดยกรอบความร่วมมือนอกจากจะมุ่งเน้นการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแล้ว ยังสามารถพัฒนารูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานที่แท้จริงของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้อีกด้วย
การขนส่งมวลชนระบบรางภายใต้การดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยนับว่ามีความสำคัญ โดยเห็นได้จากมีประชาชนใช้บริการกันเป็นจำนวนมาก ทั้งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว และช่วงเวลาปกติ ดังนั้นหากมีการให้ความรู้ด้านประกันภัยกับพนักงาน รฟท. และประชาชนผู้ใช้บริการก็จะทำให้ระบบประกันภัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการประกันภัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความตื่นตัวด้านประกันให้กับพนักงาน รฟท.และประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟแล้ว ยังทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้เส้นทางสัญจรด้วยระบบรางภายใต้การให้บริการของรฟท.อีกด้วย เลขาธิการ คปภ. กล่าว
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การเดินทางทุกรูปแบบมีความเสี่ยง การให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดวินัยด้านการจราจรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจากการเก็บสถิติการเกิดอุบัติเหตุของ รฟท. พบว่าสถิติการเกิดเหตุมีน้อยกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ แต่ความเสียหายที่เกิดในแต่ละครั้งมีความเสียหายในอัตราที่สูงกว่ามาก ดังนั้นการร่วมมือกับ คปภ.เพื่อทำงานในเชิงบูรณาการครั้งนี้ จึงให้ความสำคัญกับ การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟได้ทราบถึงความคุ้มครองจากระบบการประกันภัย รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของการรถไฟ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟเห็นความสำคัญและสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้
นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวอาจนำไปสู่การพัฒนารูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ของ รฟท.ได้มากขึ้น เช่น การเปลี่ยนจากจ่ายเบี้ยประกันภัยมาจัดตั้งกองทุนประกันภัยรถโดยสารสาธารณะ โดยจะครอบคลุมทั้งในส่วนของรถไฟโดยสารและรถโดยสารสาธารณะอื่นๆ เพราะแต่ละปีเบี้ยประกันภัยค่อนข้างสูง ซึ่งในทางปฎิบัติอาจจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ต้องรอผลการศึกษารูปแบบจาก คปภ.ให้ชัดเจนก่อน
สำหรับความคุ้มครองผู้โดยสารรถไฟตั้งแต่สถานีต้นทางจนถึงปลายทาง และผู้ปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานรถไฟขณะโดยสารและปฎิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟ หรือขณะขึ้นลงขบวนรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เดินทางภายในและต่างประเทศ จะได้รับวงเงินคุ้มครองอุบัติเหตุกรณีบาดเจ็บรายละ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตรายละ 300,000 บาท
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย