คปภ.เตรียมลงดาบ 2 ปิด ยูเนี่ยนอินเตอร์ฯ

 
คปภ.เตรียมเสนอ คลัง สั่งเพิกถอนใบอนุญาต เครดิต ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย หลังพ้นเส้นตาย 31 มี.ค.57 อ้างที่ผ่านมายังไม่มีการ ปรับปรุงระบบบัญชี และการรับรู้เบี้ยประกันภัย รวมทั้งการดำรงเงินกองทุน RBC ให้ครบ ตามหลักเกณฑ์ "ประเวช" ย้ำแม้เป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ก็มีช่องทางกฎหมายที่ดำเนินการได้ ขณะที่กรณีศูนย์สุขภาพประเทศไทย อาจเป็นคิวต่อไป เหตุมีหนี้ค้างผู้เอาประกันอื้อ
ภายหลังจากที่คปภ. ดำเนินการสั่งระงับการขายกรมธรรม์ชั่วคราว บริษัท ยูเนี่ยน อินเตอร์ ประกันภัย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2556 เป็นต้นไป
ล่าสุดจากการเปิดเผยของแหล่งข่าวในสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยกับ "ตลาดวิเคราะห์" ว่า ทางคปภ.ได้ให้โอกาสบริษัทฯ ในการดำเนินการแก้ไขทั้งระบบบัญชี รวมไปถึงการรับรู้รายได้ของบริษัทฯ จนถึงสิ้นปี 2556
แต่เนื่องจากทางบริษัทฯ มีการขอผ่อนผันในการยืดระยะเวลาออกไป ทางคปภ.จึงมีการกำหนดเส้นตายเอาไว้จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งผ่านมาวันนี้ ทาง บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการยื่นเอกสารหรือแสดงหลักฐานทางบัญชีกับทางคปภ.อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ทางคปภ. จึงมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหาย
ทั้งนี้แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการคปภ.จะมีการประชุมหารือกันเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเซ็นอนุมัติเพิกถอนใบอนุญาต
เรื่องนี้ เราจะมีการหารือร่วมกันในคณะกรรมการ เพื่อพิจารณา ซึ่งถ้าหากบริษัทฯ ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขตามที่คปภ.ได้เสนอแนะไป ก็จะมีการเสนอเพิกถอนใบอนุญาต โดยในเวลานี้แม้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะอยู่ในฐานะรักษาการ แต่ก็เชื่อว่า จะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งเท่าที่ได้หารือกับทางฝ่ายกฎหมายแล้ว คงไม่มีปัญหาอะไร แหล่งข่าวในคปภ.กล่าว
อย่างไรก็ดี ปัญหาของ บริษัท ยูเนียนอินเตอร์ ประกันภัย จำกัด เนื่องจากมีการโยงใยทางการเงินกับกิจการในเครือ โดยเฉพาะมีการกู้ยืมเงินกับ สหกรณ์เครดิตยูเนียน ในวงเงินประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งมีภาระหนี้สินค่อนข้างมาก ประกอบกับการรับรู้รายได้จากทางบริษัท ฯ ก็ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้การดำเนินธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้ปกติ
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ทางฝ่ายบริหารของ บริษัท ยูเนี่ยน อินเตอร์ ประกันภัย กำลังหาทางขายหุ้นของตนเองเพื่อนำไปชำระหนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถหากลุ่มทุนใหม่เข้ามาดำเนินกิจการได้
ทั้งนี้เบื้องหลังที่นำไปสู่การสั่งดำเนินธุรกรรมชั่วคราว สืบเนื่องจากบริษัทประกันดังกล่าว ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งบริษัทไม่สามารถดำเนินการเพื่อการแก้ไขฐานะเงินกองทุนตามโครงการที่บริษัทเสนอต่อนายทะเบียนตามมาตรา 27/5 ได้ ประกอบกับบริษัทไม่ยื่นรายงานการดำรงเงินกองทุนรายไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2556
นอกจากนี้บริษัท ฯ ไม่ได้มีการยื่นงบการเงินรายไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2556 ที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้สอบทานแล้ว รวมทั้งไม่บันทึกรายการรับประกันภัยภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีระบบควบคุมกรมธรรม์ประกันภัยและการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่รัดกุม รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายการส่งเสริมการขายที่มีจำนวนสูงผิดปกติ
ประการต่อมา บริษัทดำรงสินทรัพย์ เงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่เป็นรายได้ของบริษัทฯ เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย และจัดสรรทรัพย์สินหนุนหลังหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทจึงมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
ทางคณะกรรมการคปภ.จึงพิจารณาเห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 สั่งให้บริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ ประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้บริษัทเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินจนสามารถดำรงเงินกองทุนครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะต้องมีการแก้ไขการดำเนินการที่บกพร่องของบริษัทให้แล้วเสร็จ ทั้งจัดให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
1. จัดให้มีระบบการบริหารงานบุคคล ระบบบัญชี ระบบการเงิน ระบบการเสนอขาย ระบบการพิจารณาประกันภัย ระบบการจัดการค่าสินไหมทดแทน ระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบการตรวจสอบและระบบควบคุมภายใน รวมถึงต้องให้มีคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานเป็นลายลักษณ์อักษร
2. จัดให้มีระบบการควบคุมการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย ระบบการโอนข้อมูลการรับประกันภัย ระบบการบันทึกบัญชีและสมุดทะเบียน ระบบการเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัย โดยข้อบังคับแห่งกฎหมายที่มีความรัดกุมชัดเจน โปร่งใส สามารถติดตามตรวจสอบได้ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. บริษัทจะต้องดำเนินการสำรวจตรวจสอบและจัดทำรายงานจำนวนกรมธรรม์ประกันภัย ที่บริษัทได้จำหน่ายไป และเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้ครบถ้วน ทั้งบริษัทจะต้องเรียกคืนกรมธรรม์ประกันภัยที่เป็นยอดค้างจำหน่ายจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกลับคืนครบตามจำนวนที่จัดพิมพ์
4. บริษัทจะต้องยื่นงบการเงินและรายการการดำรงเงินกองทุนที่มีผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งจะต้องดำเนินการและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์แห่งพ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5. บริษัทจะต้องจัดสรรทรัพย์สินไว้ให้เพียงพอกับเงินสำรอง สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทนและเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23
6. บริษัทจะต้องจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังไว้ให้เพียงพอ สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4
7. บริษัทต้องดำเนินการตามเงื่อนไขให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 หรือจนกว่านายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ในระหว่างการหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว บริษัท ยูเนี่ยน อินเตอร์ประกันภัย สามารถให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยรายเดิมได้ตามปกติ เช่นการจ่ายสินไหมทดแทน แต่ไม่สามารถขายกรมธรรม์ประกันภัยรายใหม่ได้
สำหรับบริษัทยูเนี่ยน อินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็น 1 ใน 27 สมาชิกสมทบ ซึ่งกู้เงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นไป 400 ล้านบาท และเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ U-Group ซึ่ง U-Group เป็นชื่อที่สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นคุ้นเคยกันดี เป็นชื่อกลุ่มของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หรืออีกชื่อที่ใช้คือ U-Bank บริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ U-Life ให้บริการรับประกันชีวิต สุดท้ายคือ บริษัทยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ U-Inter ให้บริการรับประกันวินาศภัย โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทประกัน 2 แห่ง คือ สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ
ทั้ง 3 กิจการมีประวัติและบทบาทที่แตกต่างกันไป แต่มีจุดร่วมกันคือมีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นประธานหรือกรรมการที่มีอำนาจ
ในส่วนของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีสมาชิกสหกรณ์ร่วมเป็นเจ้าของกว่า 50,000 ราย ถือหุ้นร่วมกันกว่า 4,700 ล้านบาท บริษัทสหประกันชีวิต มีสหกรณ์ทั่วประเทศร่วมถือหุ้นโดยมีสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งลงทุนไปกว่า 300 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองคือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ที่มีนายศุภชัยเป็นประธาน ขณะเดียวกันยังมีสหกรณ์ทั่วประเทศเกือบ 2,000 แห่งร่วมลงทุนอีกหลายร้อยล้านบาท ส่วนบริษัทยูเนี่ยนอินเตอร์ฯ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือนายศุภชัย
เหตุผลหลักที่ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีมติเห็นชอบให้บริษัทยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2556 ก็เพราะว่าบริษัทยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัยดำรงเงินกองทุนไม่ครบ ขาดไป 70 ล้านบาท ซึ่งคปภ.ได้ตักเตือนตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่ทางบริษัทยัง
ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ อีกทั้งไม่ยื่นรายงานการดำรงเงินกองทุนรายไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2556
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย