ประกันฯยันจ่ายภัยน้ำท่วมเต็มที่

 
 
ธุรกิจประกันภัย" รับเหตุน้ำท่วมยังประเมินความเสียหายไม่ได้ ตราบใดที่น้ำยังไม่ลด ชี้หลายจังหวัดเสี่ยงสูงถูกปรับขึ้นเบี้ยจากวงจรภัยเริ่มถี่ขึ้น ขณะที่เลขาฯคปภ.ย้ำไม่กระทบต่ออัตราการขยายตัวของธุรกิจ "ด้านไทยสมุทรอ่วม" สัดส่วนลูกค้าต่างจังหวัด 90% โอดน้ำท่วมเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาด
นายถนัด จีรชัยไพศาล ผู้อำนวยการสมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายต่อทรัพย์สิน บ้าน เครื่องจักร พืชผล ที่เกิดจากอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ หรือธุรกิจประกันภัยเนื่องจากน้ำยังไม่ลดระดับลง จึงอยากต่อการประเมินผลมาก โดยขณะนี้ทางภาคเอกชนได้มีการประสานความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่
"เร็วไปที่จะประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะในสิ่งที่เห็นนั้น อาจจะค่อนข้างมาก แต่ผลกระทบด้านธุรกิจอาจจะต้องแยกกัน ซึ่งขณะนี้ผู้เอาประกันได้มีการแจ้งข้อมูลมายังบริษัทบ้างแล้ว ซึ่งบริษัทก็ต้องตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินประเภทไหน ความเสียหายมากน้อยเพียงใด หากพบว่าประมาณการความเสียหายที่เกิดขึ้น ค่อนข้างมากก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และถ้าเป็นกรมธรรม์ทรัพย์สินทั่วไป เมื่อประเมินความเสียหายเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะเร่งจ่ายค่าสินไหมอย่างรวดเร็ว เพราะถือว่าเป็นการให้บริการกับลูกค้า"
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเกิดภัยธรรมชาติส่งผลใน 2 ด้าน คือ ด้านลบได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตรต่างๆ ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลบวกทำให้ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงจากภัยธรรมชาตินั้นมีมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีการออกกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบใหม่ ที่เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติอีก 5 ภัย คือน้ำท่วม ลมพายุ ลูกเห็บ แผ่นดินไหว และภัยก่อการร้ายรวมเข้าไปด้วย ซึ่งน่าจะทำให้ประชาชนสนใจเข้ามาทำประกันภัยกันมากขึ้น
นายถนัด กล่าวว่า ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงภัยที่เกิดจากภัยธรรมชาติที่มีวงจรความถี่มากขึ้น และกังวลอาจทำให้บริษัทประกันภัยต่อในต่างประเทศ (รีอินชัวเรอร์) ปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยขึ้นนั้น มองว่ารีอินชัวเรอร์มีการรับประกันภัยกระจายในหลายประเทศจึงสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดี ดังนั้น จึงน่าจะไม่มีผลกระทบต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร่งตัวขึ้น ซึ่งปกติภัยธรรมชาติในแต่ละพื้นที่จะมีการเก็บข้อมูลสถิติไว้ เช่นเกิดขึ้นทุกๆ 10 หรือ 20 ปี เป็นต้น แต่ถ้าวงจรการเกิดภัยพิบัติเริ่มถี่ขึ้นก็มีโอกาสที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเบี้ยประกันภัยได้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยยอมรับว่ามีหลายจังหวัดที่เริ่มมีวงจรในการเกิดภัยพิบัติในอัตราที่ถี่ขึ้น เช่น อยุธยา เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการปรับขึ้นเบี้ยแต่อย่างใด
"ตอนนี้จะเก็บสถิติเป็นพื้นที่ว่าพื้นที่ใดความเสียหายถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น ขนาดไหน ถ้ามีความเสี่ยงมากก็ต้องระบุเป็นพื้นที่ที่มีระดับความเสี่ยงภัยสูง ซึ่งมีการสำรวจภัยทางดาวเทียม แต่ความเสียหายที่เรียกว่ารุนแรงถึงขนาดต้องปรับขึ้นเบี้ยต้องอยู่ในระดับใดนั้นเป็นสิ่งที่ตอบได้ยากมาก"
ส่วนโครงการรับประกันภัยข้าวนาปีนั้น แม้ตัวเลขการรับประกันภัยจริงอยู่ที่ 1.1 ล้านไร่ จากเป้าหมายที่ 8 ล้านไร่ แต่ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจแล้วสำหรับปีแรกและระยะเวลาในการสมัครที่ค่อนข้างสั้น ขณะที่กระบวนการการประเมินยังขึ้นอยู่กับการประเมินของภาครัฐและขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ 
นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า คปภ.ได้ทำงานร่วมกันกับคปภ.จังหวัด สำรวจความเสียหายด้านชีวิต ทรัพย์สินต่างๆ พืชผล ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตและเป็นผู้ที่มีประกันภัยที่จะต้องดูแลมีจำนวนอยู่น้อยมาก ขณะที่การประกันภัยคงต้องรอให้ระดับน้ำลดลงก่อนจึงจะสามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แต่ยืนยันว่าภัยน้ำท่วมครั้งนี้จะไม่กระทบต่อเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยแน่นอน
ขณะที่ด้านการเยียวยา โดยเฉพาะพาหนะที่ใช้ขนส่งสิ่งของที่จะเข้าไปช่วยเหลือ โดยทางคปภ.ได้มีการประสานกับคปภ.จังหวัด สมาคมอู่กลางเพื่อนำรถยกที่มีอยู่จำนวนมากในหลายเขตจังหวัดยกรถยนต์ของประชาชนมาพักไว้ในที่ที่ปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านการประกันภัย ส่วนความช่วยเหลืออื่นๆ ก็ได้ประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด สถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น
"ทางคปภ.จังหวัดได้เตรียมตัวเลขความเสียหายเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือไว้แล้ว แต่ยอมรับว่าตัวเลขยังไม่นิ่ง ซึ่งหากประชาชนได้รับความเสียหายให้แจ้งมายังหมายเลข 1186 บอกชื่อ ทะเบียนรถ ยี่ห้อรถ เพื่อตรวจสอบกรมธรรม์ และช่วยประสานงานกับบริษัทประกันภัยอย่างเต็มที่"
นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) และในฐานะ (อดีตนายกสมาคมประกันวินาศภัย) กล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่เกิดจากภัยน้ำท่วมได้ในขณะนี้ ต้องรอให้ระดับน้ำลดจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติเสียก่อน เพราะทรัพย์สินที่ทำประกันส่วนใหญ่จะเป็นบ้าน รถยนต์ ข้าวนาปี ซึ่งการประเมินความเสียหายต้องรอหลังน้ำลดแทบทั้งสิ้น ซึ่งในส่วนของข้าวนาปีต้องรอข้อสรุปจากภาครัฐเท่านั้น
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด กล่าวว่า เท่าที่ประเมินเบื้องต้นปีนี้บริษัทได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมค่อนข้างมาก เพราะเหตุเกิดในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวและส่วนใหญ่ 90% ลูกค้าของบริษัทเป็นต่างจังหวัดและส่วนใหญ่เป็นลูกค้าระดับรากหญ้า ซึ่งน้ำท่วมเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาดมาก และขณะนี้กำลังเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ขณะที่ตัวเลข 7 เดือนก็ยังสามารถขยายตัวได้ดี
 
ที่มา:ฐานเศรษฐกิจ