คปภ.เปิดแผนประกันภัยพืชผลครบวงจร ดันเกษตรกรไทยบริหารความเสี่ยงด้วยตนเอง

 
สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดแผนสั้น-กลาง-ยาว ส่งเสริมเกษตรกรบริหารความเสี่ยงด้านการประกันภัยเอง ด้านประกันภัยพืชผลแบบครบวงจร ชี้ต่างชาติประกันครอบคลุมเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และการประมง
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า การบริหารความเสี่ยงด้วยประกันภัยเป็นสิ่งทีทำให้เกษตรกรสามารถคาดการณ์ป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน รวมถึงควบคุมค้นทุนทางการผลิตได้ดีขึ้น
รัฐบาลทุกยุคสมัยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหากับเกษตรกร เดิมทีเป็นลักษณะงบประมาณให้ความช่วยเหลือหรือเยียวยาหลังจากการเกิดปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะกิจ แม้จะนำระบบประกันภัยพืชผลมาใช้ แต่ก็ใช้วิธีประกาศเป็นนโยบายในแต่ละปีซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ขาดเจ้าภาพดูแลอย่างเป็นระบบ ดังนั้นปีนี้จะเห็นระบบการประกันภัยพืชผลอย่างครบวงจร นายสุทธิพลกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.ร่วมกับหลายภาคส่วนขับเคลื่อนในเรื่องประกันภัยพืชผล โดยในส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เลขาธิการ คปภ. ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล ซึ่งมีนางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อดีตอธิบดีกรมการประกันภัย เป็นประธานคณะทำงานฯ
ดร.สุทธิพลกล่าวอีกว่า ตนได้เสนอต่อคณะทำงานฯให้เสนอรัฐบาลประกาศการประกันภัยพืชผลเป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมเสนอให้มีการจัดทำกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อวางกรอบกติกาเกี่ยวกับการประกันภัยพืชผลแบบครบวงจร และดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคเพื่อวางนโยบายรวมทั้งขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผล
โดยที่ประชุมคณะทำงานฯ เห็นด้วยในการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการเป็น 3 ชุด 2 ระดับ กล่าวคือ 1.คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันภัยการเกษตรระดับประเทศ (มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธานฯ) เพื่อดำเนินการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการรับประกันภัยการเกษตรในอนาคต และเพื่อเกิดความต่อเนื่องของการดำเนินการปฏิรูปในระยะยาวในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการที่เกี่ยวกับการประกันภัยการเกษตร (Agricultural Insurance) ต่อด้วย 2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตรเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการประกันภัยการเกษตรไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ (มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธานฯ) ผลักดันให้การประกันภัยการเกษตรเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นของเกษตรกร รณรงค์ ส่งเสริมให้การประกันภัยการเกษตรเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานการประกันภัยการเกษตรให้มีความต่อเนื่อง ยั่งยืน และบรรลุผลสำเร็จในการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนากฎหมายของการประกันภัยการเกษตร และ 3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตร ระดับจังหวัด (มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธานฯ) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายประกันภัยการเกษตรไปสู่การปฏิบัติในจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานการประกันภัยการเกษตรในจังหวัด
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้ร่วมกันวางแนวทางปฏิรูปและการปฏิบัติระบบประกันภัยพืชผลทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว กล่าวคือ ระยะสั้น (1-3 ปี) ประกอบด้วย การเร่งจัดตั้งและแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการข้างต้น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องการปรับเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน การใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการกำหนดเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน การลดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย การเพิ่มบทบาทของภาครัฐในการรับประกันภัย จัดให้มีโครงการอบรมให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่เกษตรกรในจังหวัดนำร่อง การบูรณาการข้อมูลและการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลด้านการประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับปรุงระบบการทำงานประสานกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนแผนระยะปานกลาง (3-5 ปี) ประกอบด้วย การเพิ่มพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการปลูกข้าว การกระจายความเสี่ยงไปยังผู้รับประกันภัยต่อต่างชาติ การเพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้กลับมาซื้อซ้ำในโครงการปีถัดไป การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการกำหนดเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน และการจัดตั้ง National Insurance Pool
สุดท้าย แผนระยะยาว (ภายใน 10 ปี) ประกอบด้วย การเพิ่มพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการกำหนดเกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้สรุปรายงานเรื่องการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตรเสร็จสมบูรณ์แล้ว และส่งให้คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเงิน การคลัง พิจารณา และได้ส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ พิจารณาเสร็จแล้ว และส่งให้ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานเรื่อง “การปฏิรูปการประกันภัยการเกษตร” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ดร.สุทธิพลกล่าวว่า ความรู้ความเข้าใจต่อระบบประกันภัยของประชาชนยังคงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการประกันภัยในประเทศไทยให้เติบโตซึ่งในต่างประเทศมีระบบประกันภัยพืชผลที่ครอบคลุมทั้งด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และการประมง
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย