คปภ.สั่งคุมเข้มธุรกิจประกัน

 
 
นายสิทุธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวในงานสัมมนา “ประกันภัย กำกับดูแลอย่างไร ให้โดนใจประชาชน” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า บริษัทประกันคิดผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลายในช่วงเศรษฐกิจยุคไซเบอร์ จึงต้องกำกับดูแลอย่างทั่วถึงและทันสถานการณ์ เนื่องจากบริษัทประกันชีวิต ประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้ประชาชนผู้เอาประกันถูกเอาเปรียบด้วยการเดินหน้าสร้างความเข้าใจประชาชนให้มีความรู้ในการเข้าถึงระบบประกันมากขึ้น
สำหรับการดูแลระบบประกันภัยพืชผลให้กับเกษตรกร ป้องกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งการปลูกพืชทางการเกษตร การปศุสัตว์ การทำประมง คปภ.จึงได้ประสานกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมดูแลระบบประกันภัยพืชผล โดยร่วมกันดูแลจากหลายหน่วยงานทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คปภ. และส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้าใจมากขึ้น หวังผลักดันเข้าสู่ระบบประกันประมาณ 30 ล้านไร่ ผ่านแรงจูงในการคิดเบี้ยประกัน 120 บาทต่อไร่ โดยภาครัฐอุดหนุนเบี้ยประกันบางส่วน นอกจากนี้ ยังมีระบบไกล่เกลี่ยผ่านผู้ชำนาญการ หากเกิดข้อพิพาทโต้แย้งเกิดขึ้น คาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้ สปท.พิจารณาเร็วๆ นี้
ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า แม้ยอดขายรถยนต์จะขยายตัวลดลงร้อยละ 10 ในช่วงนี้ กระทบต่อการประกันวินาศภัยเพียงร้อยละ 1 จึงถือว่าไม่หนักใจต่อระบบประกันวินาศภัย โดยยังมองว่าเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งปีขยายตัวร้อยละ 3 จากยอดขายรถยนต์ขยายตัวเพียงร้อยละ 1-2 ยอมรับว่าการประกันภัยทรัพย์สิน อาคาร โรงงาน ยังมียอดกรมธรรม์เพิ่มขึ้น แต่อัตราเบี้ยประกันกลับลดลงจากร้อยละ 0.8 ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เหลือร้อยละ 0.3 ในปัจจุบัน เมื่อเบี้ยประกันลดลงจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนทำประกันภัยทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อ คปภ.ส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชน ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น จึงทำให้การเข้าสู่ระบบประกันเพิ่มและยังกำกับควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด นับว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อระบบประกันภัย จนทำให้ยอดการร้องเรียนมีเพียงร้อยละ 0.01 เท่านั้น จากนี้ไปธุรกิจประกันวินาศภัยจะยกระดับการบริหารความเสี่ยงของประเทศ พร้อมดูแลสวัสดิการประชาชนโดยภาครัฐอุดหนุนบางส่วน รวมถึงเป็นฐานผลักดันการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMV โดยภาครัฐอยู่ข้างหลังคอยส่งเสริมผ่านกองทุนในการรับประกันภัยต่อ โดยไม่ต้องประกันภัยต่อกับต่างประเทศ เมื่อตลาดแข่งขันมากขึ้นเบี้ยประกันภัยจะลดลงผ่านการดูแลจากภาครัฐและคอยส่งเสริม
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย