ธุรกิจประกันปี 58 ปั๊มเบี้ยรับ 7.42แสนล. ประชาชนกลัวเสี่ยงแห่ซื้อประกัน

 
 
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยตัวเลขการรับประกันภัยจำแนกตามช่องทางการจำหน่ายช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม 2558 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 742,408 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 5.46% แบ่งเป็นเบี้ยจากธุรกิจประกันชีวิต 533,211 ล้านบาท ขยายตัว 6.91% และเบี้ยจากธุรกิจ ประกันวินาศภัย 209,197 ล้านบาท ขยายตัว 1.92% ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงประชาชนตื่นตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มสูงทำให้ตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัยมากขึ้น
ช่องทางการขายประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ การขายผ่าน "ตัวแทน" โดยมีจำนวนเบี้ยรับรวมทั้งสิ้น 276,882 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 51.52% ของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.39% รองลงมาได้แก่การขายผ่าน "ธนาคาร" (Bancassurance) มีเบี้ยประกันชีวิตทั้งสิ้น 227,225 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42.28% ขยายตัว 9.43% ตามมาด้วยการขายผ่าน "โทรศัพท์" มีเบี้ยประกันชีวิตทั้งสิ้น 13,903 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.59% ขยายตัว 5.49% บริษัทประกันชีวิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดในการขายผ่านตัวแทนสูงสุด 3 ลำดับแรกได้แก่ บริษัท เอไอเอ, บริษัท ไทยประกันชีวิต และบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ตามลำดับ และบริษัทประกันชีวิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดในการขายผ่านธนาคารมากที่สุด 3 ลำดับแรกได้แก่ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต,บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตและบริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ตามลำดับ
ส่วนช่องทางการขายประกันวินาศภัยที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ การขายผ่าน "นายหน้า" โดยมีจำนวนเบี้ยรับรวมทั้งสิ้น 119,228 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน56.92% ของเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวมทุกช่องทาง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.56% โดยประกันภัยรถ และประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีจำนวนเบี้ยรับรวมสูงสุด ตามลำดับ รองลงมาได้แก่ การขายผ่าน "ตัวแทน" มีเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งสิ้น 30,622 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.62% ขยายตัว 2.71% ตามมาด้วยการขายผ่าน "ธนาคาร" (Bancassurance) มีเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งสิ้น 25,681 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน12.26% ขยายตัว 1.93% ซึ่งบริษัทประกันวินาศภัยที่มีส่วนแบ่งการตลาดในการขายผ่านนายหน้าสูงสุดได้แก่บริษัท วิริยะประกันภัย,บริษัท ทิพยประกันภัย และบริษัทโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) ตามลำดับ
เลขาธิการคปภ.กล่าวว่าปีนี้สำนักงาน คปภ. ได้วางมาตรการพัฒนาธุรกิจประกันภัย ไว้หลายมิติซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 (ปี 2559-2563) โดยเฉพาะการพัฒนาช่องทางการจำหน่วยกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยได้รวมถึงการส่งเสริม และกำกับดูแลให้ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยมีมาตรฐานจรรยาบรรณและแนวปฏิบัติที่ดีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่อประชาชน ตลอดจนดูแลประชาชนผู้เอาประกันภัยภายหลังที่มีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยแล้ว (Service After Sale) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันภัยในระยะยาว ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ประชาชนควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง รายละเอียด และข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและตรงกับความต้องการมากที่สุด
 
ที่มา:มิตรแท้ประกันภัย