แห่สอบถามประกันภาคบังคับ

 
 
คปภ. สรุปสายด่วน 1186 ช่วง 7 วันอันตราย เผยประชาชนสอบถามประกันภาคบังคับมากสุด พร้อมได้ฤกษ์เปิดแผนพัฒนาประกันภัยฉบับที่ 3 เน้นประกันภัยไทยเติบโตยั่งยืน ยกระดับความเชื่อมั่นจากประชาชน กำหนดยุทธศาสตร์ 4 ข้อ หวังพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าตามที่สำนักงาน คปภ.ได้จัดเวรเจ้าหน้าที่สายด่วน คปภ.1186 ให้บริการประชาชนด้านการประกันภัยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ 2559 นั้น สำนักงาน คปภ.ได้ดำเนินการตามนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของภาครัฐ อย่างเคร่งครัด โดยได้ดำเนินการ ออกประกาศ สำนักงาน คปภ. เรื่องมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้พนักงานทุกคนถือปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างอันดีแก่ประชาชน รวมทั้งร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันอุบติเหตุทางถนน และเปิดศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางสายด่วน คปภ.1186 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวก ให้บริการข้อมูล และให้คำปรึกษาด้านการประกันภัย
โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนใช้บริการสายด่วน คปภ.1186 จำนวน ทั้งสิ้น 541 สาย ซึ่งประเด็นข้อหารือที่ประชาชนโทร.มาสอบถามมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ ข้อหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขกรมธรรม์รถภาคบังคับและภาคสมัครใจ จำนวน 119 สาย ข้อหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ประกันภัย 200 และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเทศกาลสุขใจ) จำนวน 101 สาย ข้อหารือเรื่องการยกเลิกกรมธรรม์ จำนวน 83 สาย ข้อหารือเรื่องการตรวจสอบข้อมูลการจัดทำประกันภัยรถ จำนวน 37 สาย และข้อหารือเกี่ยวกับข้อมูลการติดต่อสำนักงาน คปภ. ในส่วนภูมิภาคและบริษัทประกันภัย จำนวน 33 สาย
“ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้มีการใช้รถใช้ถนนคับคั่งกว่าปกติ โดยสถิติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานว่า ในช่วง 7 วันอันตรายระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ถึง 4 มกราคม 2559 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 3,379 ครั้ง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 380 ราย และบาดเจ็บ 3,505 ราย จึงได้สั่งการให้สายประกันภัยภูมิภาค และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประสบภัยให้ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยด้วยความรวดเร็ว และเป็นธรรม” เลขาธิการ คปภ. กล่าว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำประกันภัยมีความสำคัญอย่างมาก นอกจากจะช่วยสร้างหลักประกันให้กับตนเองและครอบครัวแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่รองรับความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามความสำคัญของการประกันภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งถึงแม้กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถ หรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย แต่จากสถิติที่เกิดขึ้น มีรถจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์ไม่ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งทำให้ผู้ประสบภัยต้องเสียผลประโยชน์ และความคุ้มครองอันพึงได้รับ จึงอยากฝากเตือนให้เจ้าของรถตระหนัก และเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยรถภาคบังคับ ซึ่งนอกจากท่านและผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถจะได้รับความคุ้มครองแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายอีกด้วย และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ.1186
ดร.สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมถึงบอร์ด คปภ.ได้เห็นชอบหลักการ “แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3” โดยกำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทยในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) มีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนระบบประกันภัยไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือ ไว้วางใจจากประชาชน โดยคาดหวังให้ระบบประกันภัยมีความมั่นคงและดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดเสรี ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและสามารถใช้ประโยชน์จากการประกันภัยได้อย่างเหมาะสม
สำหรับแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2559-2563) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลักๆ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทประกันภัยมีความมั่นคง เข้มแข็งทางการเงิน มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยเร่งพัฒนากรอบการกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 และการลดต้นทุนโดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Digital Business มุ่งเน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การเปิดเผยข้อมูล และรวมถึงการคัดกรองบุคคลที่มีคุณภาพในการเข้ามาดำเนินธุรกิจประกันภัย มีการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัยเช่น ยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงาตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย ด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย ผ่านการพัฒนาเครื่องมือ รูปแบบ วิธีการและสื่อประชาสัมพันธ์ในการให้ความรู้ด้านการประกันภัยที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยง โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อย รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพรวมทั้งขยายช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชน ผ่านการพัฒนากระบวนการขายประกันภัยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัย และช่องทางการเข้าถึงสำหรับรายย่อยและประชาชนในท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน เพื่อให้บริษัทประกันภัยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเสริมสร้างการแข่งขันผ่านการผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความยืดหยุ่นและอิงกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้มีการพัฒนาความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้ตามความเสี่ยงและความเชี่ยวชาญของบริษัทให้มีการพัฒนาการกำกับ และกระบวนการให้ความเห็นชอบ/อนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยใน CLMV รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการในกลุ่ม CLMV โดยการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจประกันภัย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อให้ระบบประกันภัยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจประกันภัย โดยพัฒนาและยกระดับบุคลากรประกันภัยให้เป็นมืออาชีพ ด้วยการสร้างมาตรฐานวิชาชีพของบุคลากรประกันภัย ผลักดันให้สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงเป็นศูนย์กลางการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรม เสริมสร้างศักยภาพการวิจัยและสารสนเทศ เพื่อให้ระบบประกันภัยมีฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัยที่สมบูรณ์และมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่สามารถรองรับการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผลักดันให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะการประกันภัยพืชผลสำหรับเกษตรกร การประกันภัยรถโดยสารสาธารณะ อาคารสาธารณะ เรือโดยสารและสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ อีกทั้งจะเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานกำกับ โดยปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัย เช่น ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พัฒนากฎหมายประกันภัยทางทะเล ฯลฯ รวมถึงพัฒนาการบังคับใช้กฎหมาย และเตรียมความพร้อมเพื่อการประเมิน
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย