ธุรกิจประกันปีวานรสุดคึกคักลั่นกลองรบประกาศเป้าปั๊มเบี้ย

 
ธุรกิจประกันเปิดศักราชใหม่ต้อนรับปีวานร หลายๆ ค่ายกางแผนธุรกิจกำหนดทิศทางการทำงานจะไปซ้ายหรือขวา ขณะที่บางรายประกาศชัดเจน จับตลาดเฉพาะทางที่ตัวเองถนัด ถึงกับออกตัวประกาศตั้งเป้าโกยเบี้ย ด้าน คปภ.ตอกย้ำเป้า5ปีที่จะขับเคลื่อนธุรกิจนี้ให้เดินอย่างเข้มแข็งแน่วแน่ ภายใต้หัวเรือใหญ่ “สุทธิพล ทวีชัยการ” วันนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจของแต่ละองค์กรเกี่ยวกับทิศทางในปีนี้ ว่าจะไปทางไหนกันแน่ รวมไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเป้าจะโกยเบี้ย ลองไปฟังทรรศนะของผู้คว่ำหวอดในวงการนี้กัน
เป้า 5 ปีขับเคลื่อนประกันภัย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า อัตราเติบโตน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.85% หรือมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 810,135 ล้านบาท จากภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัวขึ้น แบ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิต 594,980 ล้านบาท เติบโต 10% เบี้ยประกันวินาศภัย 215,155 ล้านบาท เติบโต 2%
อย่างไรก็ดี แนวทางการทำงานของ คปภ.จะมุ่งทำตามกลยุทธ์ของสำนักงาน คปภ.และแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ที่ใช้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยตลอดจนเป้าหมายการเติบโตตั้งแต่ปี 2559-2563 หรือภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) โดยแผนพัฒนาฉบับใหม่มุ่งส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืน ให้เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชน อาทิ การส่งเสริมฐานะการเงินบริษัทประกันภัยให้มั่นคงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและการขยายธุรกิจไปยังเออีซี การให้ความรู้กับประชาชนและพัฒนาช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ดร.สุทธิพล กล่าวว่า ปีนี้จะเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยทั้ง 3 ฉบับ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่และยังคั่งค้าง อยู่คือร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครอง ผู้ประสบภัยจากรถ โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาประชุมไปแล้วและให้มีการปรับปรุงและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น ดูว่าเมื่อกฎหมายออกมาจะเป็นภาระกับธุรกิจประกันภัยแค่ไหนทั้งการกำหนดให้มีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือการให้เพิ่มเงินกองทุนขั้นต่ำเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่ง เสริมศักยภาพการแข่งขันกับต่างชาติที่จะเข้ามามากขึ้น หากแก้ไขปัญหาของบริษัทประกันภัยตามแนวทางนี้กระทบต่อผู้เอาประกันหรือไม่ เพราะตามนโยบายเน้นการกำกับเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น
แก้เนื้อหาคุ้มครองตาย
นายกี่เดช อนันต์ศิริประพา ผู้อำนวยการ บริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2559 นี้ การแก้ไขเพิ่มเติม “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบ ภัยทางเรือ พ.ศ. ...” (พ.ร.บ.ผู้ประสบ ภัยจากเรือ) จะพิจารณาเรียบร้อย โดยเนื้อหาสำคัญที่แก้ไขจะเป็นเรื่องการเพิ่มความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต และจะกำหนดรายละเอียดประเภทเรือ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันกำหนดความคุ้มครองดังกล่าวที่ระดับ 100,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่ปัจจุบันคุ้มครองกรณีเสียชีวิตอยู่ที่ 200,000 บาท
“การแก้ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทางเรือ จะดูแลเรื่องความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกเพิ่มขึ้น เช่น เรือขับไปชนโป๊ะล่มก็ดูแลคนเจ็บบนโป๊ะด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างรอกรมเจ้าท่าพิจารณาการแบ่งประเภทเรือ เพื่อใช้ระบุความคุ้มครองเรือแต่ละประเภท เช่น เรือท่องเที่ยว หรืออย่างเจ็ตสกีจะนับเป็นเรือหรือไม่ ตอนนี้เรือน่าจะมีอยู่ประมาณ 20,000 ลำ แต่มีการจดทะเบียนเพียง 5,000 ลำ ซึ่งอาจต้องมีการแก้ปัญหาที่ระบบจดทะเบียนเรือเพิ่มเติม” นายกี่เดช กล่าว
ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทางเรือ ยังเกี่ยวเนื่องถึงการทำร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. ... ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะร่วมเป็นเจ้าภาพในการร่างกฎหมายใหม่ที่ว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องประกันเรือสินค้า เรือโดยสาร และเรืออื่นๆ ทั้งเพื่อการขนส่งทางทะเลและการเดินเรือทั้งหมด
ลุยแก้กฎหมายประกัน
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คปภ. และทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยได้ข้อสรุปว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องการเพิ่มเติมความคุ้มครองแก่ นักท่องเที่ยวต่างชาติเรื่องอุบัติเหตุทั่วไป กรณีได้รับบาดเจ็บจากการก่ออาชญากรรมทุกประเภท เช่น ปล้น ทุบ ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น กรณีการเดินทางล่าช้า ธุรกิจหยุดชะงักและทรัพย์สินส่วนตัวสูญหาย ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองที่ มากกว่าทางสมาคมเคยเสนอมาว่า ประกันภัยท่องเที่ยวต่างชาติมีความคุ้มครองกรณีภัยธรรมชาติ และการก่อการร้าย-จลาจล และมีเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 70 ล้านบาทต่อปี
“ตอนนี้แนวทางและนโยบาย รวมถึงมูลค่าเบี้ยประกันภัย ที่จะทำประกันให้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ถือว่าชัดเจนแล้ว เรารับหลักการเบื้องต้นมาออกแบบกรมธรรม์ วิธีการรับประกันภัย การจ่ายค่าสินไหม และการบริหารการประกันภัย คาดว่าต้นปี 2559 ตัวร่างกรมธรรม์น่าจะทำเสร็จเรียบร้อย ซึ่งกรมธรรม์จะเป็นแบบปีต่อปี” นายอานนท์ กล่าว
โดยรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขในกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งกองทุนจะหันมาใช้ระบบประกันภัยในการจ่ายเงินค่าชดเชยแทน และคาดว่าความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจะอยู่ที่รายละ 1 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยน่าจะอยู่ที่ 180 ล้านบาท จากการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2559 ที่ 31 ล้านคน ซึ่งค่าเฉลี่ยต่อรายที่ 5.60-5.80 บาทเท่านั้น
“ส่วนการบริหารประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะออกมาในรูปแบบเดียวกับการรับประกันภัยนาข้าว คือ สมาคมประกันวินาศภัยเป็นตัวกลางและเปิดโครงการให้บริษัทประกันวินาศภัยสมัครเข้ามารับประกัน หากมีการตกลงทำประกันน่าจะเริ่มให้ความคุ้มครองได้ช่วงไตรมาส 2 ปี 2559” นายอานนท์ กล่าว
 
ที่มา มิตรแท้ประกันภัย