ส.วินาศภัยหวังประกันสุขภาพขึ้นแผนแห่งชาติ

 
ส.วินาศภัย ฝากความหวัง สปช.ดันประกันสุขภาพขึ้นแผนฯแห่งชาติ หลังเสนอ "ภาคธุรกิจรับความเสี่ยงผ่านระบบประกัน "สุขภาพ-พืชเกษตร"ปลดแอกงบประมาณแผ่นดิน ขณะที่รัฐเก็บภาษีแวตทางอ้อมอีกพันล้านต่อปี แต่หากเข็นไม่ขึ้นคาดใน 1-2 ปีอาจเห็นงบค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 8 หมื่นล้าน
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยต่อ "ฐานเศรษฐกิจ" ต่อกรณีที่สมาคมได้เสนอรายละเอียดแบบประกันสุขภาพไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อผลักดันนโยบายภาครัฐใช้ระบบประกันสุขภาพทดแทนภาระด้านงบประมาณในแต่ละปี พร้อมให้ธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยเข้าไปรับความเสี่ยงแทน เนื่องจากตัวเลขค่ารักษาพยาบาลปัจจุบันสูงกว่าปีละ 6 หมื่นล้านบาท โดยก่อนหน้านี้สปช. มองเห็นถึงความสำคัญจึงได้เสนอให้ภาคธุรกิจประกันภัยเสนอแผนรับ มือกับความเสี่ยงแทน 2 ด้าน คือ 1. ด้านการประกันสุขภาพ จากค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่ง 5-10 ปีที่ผ่านมารัฐบาลต้องใช้งบประมาณอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลแก่ข้าราชการเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นล้านบาท แต่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาทและสูงสุดอยู่ที่ปีละ 6 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา และ 2.ด้านประกันพืชเกษตร โดยให้น้ำหนักไปที่โครงการประกันภัยพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า ประเทศไทยกำลังประสบกับภาระทางงบประมาณอย่างมาก จึงมีแนวคิดที่จะให้ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจประกันชีวิตเข้าไปรับความเสี่ยงจากค่ารักษาตรงนี้แทน โดยรับประกันในหมวดของการประกันสุขภาพ ผ่านเครือข่ายการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลคู่สัญญา โดยฝากให้เป็นการบ้านผ่านมายังสมาคมประกันวินาศภัยเพื่อกำหนดรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้รูปแบบการศึกษาได้เสร็จสิ้นแล้ว
ตอนนี้ทางสมาคมได้ศึกษาแล้วพบว่า ระยะแรกอาจใช้ระบบพึ่งพาประกันภัยในลักษณะแบ่งภัยออกมาเพียง 10-20% จากเงินงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของข้าราชการ หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพที่ดำเนินงานโดยเอกชนประมาณ 6 พัน-1หมื่นล้านบาทเพื่อเป็นการทดลองระบบ เนื่องจากหากในอนาคตหากภาครัฐไม่มีการถ่ายโอนความเสี่ยงด้านการรักษาแล้ว จะมีความเป็นไปได้สูงที่ภาครัฐจะบีบลดงบประมาณเพื่อไม่ให้เม็ดเงินขยายตัวเกินกว่าในปัจจุบัน และอาจส่งผลให้การรักษาจะมีประสิทธิภาพลดลงเนื่องจากปัจจัยประกอบเช่น ค่าแพทย์ ค่ายา ค่าห้อง ค่าผ่าตัดจะต้องถูกลดลงเพื่อให้งบประมาณไม่บานปลาย หรือจำกัดอยู่ให้อยู่ใกล้เคียง 6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้หากประเมินจากโครงสร้างการเข้าไปให้บริการแล้ว ในระยะยาวภาครัฐยังสามารถดำเนินการเก็บภาษีจากโครงการดังกล่าวออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% รวมถึงหากมียอดประกันเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจะได้ภาษีทางอ้อมจากผลประกอบการของธุรกิจประกันภัยเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี ถ้าช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจเข้ามารับความเสี่ยงเพียงบางส่วนเพื่อลดภาระงบประมาณ โดยส่วนตัวเชื่อว่า อาจจะเห็นได้ในรัฐบาลปัจจุบัน
แต่กรณีที่ภาคธุรกิจไม่ได้เข้ามารับความเสี่ยงนั้น แนวโน้มในระยะ 1-2 ปีอาจมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นงบประมาณค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท นายอานนท์ กล่าวในที่สุด
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย