คปภ. เดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.รถ

 
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558 สรุปสาระสำคัญ 2 เรื่อง ว่า ประการแรก เห็นชอบหลักการในการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรวมกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้ในฉบับเดียวกัน การปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยรถจักรยานยนต์ 100 บาทเพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงภัยที่แท้จริง และปรับจำนวนเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากความคุ้มครอง ค่ารักษาพยาบาล ปัจจุบัน 50,000 บาท ปรับใหม่เป็น 100,000 บาท ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพ ปัจจุบัน 200,000 บาท ปรับใหม่ 500,000 บาท ขณะที่ค่าสินไหมทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ (จ่ายตามสัดส่วนของการสูญเสียอวัยวะ โดยใช้หลักการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA)) ค่าชดเชยรายวัน 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน
นอกจากนี้ แยกวงเงินความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลออกจากวงเงินความคุ้มครองข้ออื่น และให้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจ่ายค่าเสียหายอื่นได้ นอกจากค่าเสียหายเบื้องต้นตามที่กฎหมายกำหนดให้กับผู้ประสบภัยจากรถที่เกิดเหตุจากรถที่ไม่ทำประกันภัย รถที่ถูกขโมย ชิงทรัพย์และได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว และรถคันนั้นไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของรถ และถูกรถชนแล้วหนี ซึ่งเมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว สรุปได้ดังนี้
1) ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาท 2) ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร 200,000 บาท 3) ค่าชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ (อยู่ระหว่างการพิจารณา)-การเพิ่มวงเงินความคุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก-การปรับให้กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีสภาพเป็นนิติบุคคล
2.เห็นชอบหลักการการกำกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์รอจำหน่ายของบริษัทประกันภัยตามร่างประกาศ คปภ. เรื่อง การขยายระยะเวลาการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย พ.ศ. ...
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ.ได้ศึกษาแนวทางการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่รอการจำหน่าย ในกรณีที่ได้ให้ความเห็นชอบการถือครองอสังหาริมทรัพย์และรอจำหน่ายแล้ว (2 ปี) แต่บริษัทประกันภัยไม่สามารถจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวออกไปได้ ภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาที่ให้ความเห็นชอบ โดยมีสาระสำคัญ คือ
ประการแรก หลักเกณฑ์เบื้องต้นในการพิจารณาขยายระยะเวลา บริษัทประกันภัยต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ CAR ไม่ต่ำว่าร้อยละ 140 และอัตราส่วนสินทรัพย์ต่อภาระผูกพันและสภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 ติดต่อกัน 4 ไตรมาสล่าสุด และมีแผนการเร่งรัดการจำหน่ายอย่างดีที่สุดแล้ว ประการที่สอง ระยะเวลาที่ขยายได้ไม่เกิน 2 ปี คงเดิม
ประการสุดท้าย หลักการพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณีที่บริษัทยื่นขอขยายระยะเวลาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สำนักงาน คปภ.จะดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ อสังหาริมทรัพย์รายการนี้ต้องหักค่าเผื่อการด้อยค่าตามประกาศ คปภ. ว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สิน
ขณะเดียวกัน กรณีบริษัทยื่นขอขยายระยะเวลาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะพิจารณาให้ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 2 ปี บริษัทที่มีอสังหาริมทรัพย์รอจำหน่ายเกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุน หากได้รับการผ่อนผันแล้ว ต้องหักค่าเผื่อการด้อยค่าตามประกาศ คปภ. ว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นกำหนดที่ได้รับการขยายระยะเวลาแล้ว หากบริษัทไม่สามารถจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์นั้น จะดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ อสังหาริมทรัพย์รายการนี้ต้องหักค่าเผื่อการด้อยค่าตามประกาศ คปภ. ว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย