ไม่ยุบกองทุนประกันภัยพิบัติ คปภ. ลั่นโรดแมปปรับบทบาท

 
 
รายละเอียด
 
จากการที่รัฐบาล คสช.สั่งให้มีการทบทวนนโยบายของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อให้เหมาะสม สอดคล้องกับแผนงบประมาณ เฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติเข้าไปเป็นส่วนประกอบย่อยในนั้น ทำให้หลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าต้องมีการทบทวนทั้งหมดขึ้นมาแล้ว จะมีผลต่อเนื่องถึงกองทุนที่ได้จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 หรือไม่อย่างไร
 
แม้ว่าจุดเริ่มของกองทุนดังกล่าว เกิดจาก มติ ครม.10 ม.ค.2555 ผ่านความเห็นชอบให้มี พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยการรับประกันภัย ทำประกันภัยต่อ และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ในวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท
 
รวมทั้งจุดประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน อย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้ได้รับความคุ้มครองทรัพย์และกิจการ, เพื่อจัดให้มีความสามารถในการเอาประกันภัยต่อในจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการ (Capacity) และในอัตราเบี้ยประกันภัยที่ต่ำสุด, เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองภัยพิบัติได้อย่างทั่วถึง ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมและเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบการต่างๆ ยังคงดำเนินกิจการต่อไปในประเทศไทย
 
ปัจจุบัน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลเม็ดเงินของกองทุน นี้ ซึ่งแน่นอนว่ามีสถานะเป็นบวก เพราะมีเบี้ยประกันภัยรวมกว่า 600 ล้านบาทเศษ จากจำนวนกรมธรรม์ทั่วประเทศกว่า 1.4 ล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่าความคุ้มครองตามกรมธรรม์ทุกชนิดกว่า 6 หมื่นล้านบาท (ในจำนวนนี้มีประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทที่ส่งต่อให้กองทุน) โดยที่ยังไม่เคยเกิดการเคลมสินไหมแม้แต่รายเดียว อันเนื่องจากข้อจำกัดและข้อยุ่งยากของเงื่อนไขการเคลมที่ถูกกำหนดให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนไว้ตั้งแต่แรก จึงเคยมีที่มาของกระแสเรียกร้องให้มีการทบทวนบทบาทของกองทุน นี้ ทว่า ผ่านมา 3 ปีแล้ว กองทุน นี้ ก็ยังคงอยู่เป็นปกติ
 
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่ายังไม่มีคำสั่งหรือนโยบายใดๆจากเบื้องบนลงมาว่าให้ทบทวนกองทุน นี้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ คปภ. แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา กองทุน นี้สามารถช่วยพยุงธุรกิจประกันภัยทั้งระบบได้ดีพอสมควร เห็นได้จากทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินต่างๆในอุตสาหกรรมคลายตัวลงมาอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการต่างๆสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงภัยได้ดีขึ้น ประชาชนตระหนักในการทำประกันภัยคุ้มครองกันมากขึ้น
 
“ผมไม่เห็นว่ากองทุน นี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพียงแต่อาจต้องมีการปรับรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์ที่เหมาะสมมากขึ้น เช่น ขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมในระดับที่ผู้เอาประกันและบริษัทประกันรับได้ทั้งสองด้าน ทำให้การบริหารจัดการดีขึ้น”
 
เขาเน้นย้ำว่าโจทย์สำคัญที่ คปภ.ต้องพัฒนาต่อเนื่อง คือ การทำให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงการทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนผู้เอาประกันในส่วนของบ้านที่อยู่อาศัยนั้นมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนบ้านที่อยู่อาศัยโดยรวมทั่วประเทศกว่า 22 ล้านครัวเรือน โดยเฉพาะการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยในรูปแบบเหล่านี้ เพื่อจะได้รองรับความเสียหายที่คาดการณ์ไม่ถึงในอนาคต
 
น.ส.เดือนเด่น ชื่นจิตต์ศิริ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทสมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าภาคเอกชนมีหน้าที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยไม่ได้ยึดติดสถานภาพความคงอยู่ของกองทุนส่งเสริมการประกัยภัยพิบัติ จึงตอบไม่ได้ว่ากองทุน นี้ควรจะเป็นอย่างไรต่อไป ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐและฝ่ายที่มีหน้าที่กำกับดูแล
 
ในความเห็นของตน มองว่าการมีกองทุนสำหรับรองรับความเสี่ยงภัยพิบัติต่างๆเหมือนในต่างประเทศ ย่อมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ มากกว่าจะเป็นการเสียประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพียงแต่จะต้องปรับให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆที่เกิดขึ้นเพราะแนวโน้มมหันตภัยต่างๆเกิดขึ้นได้ทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่คาดคิดและเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ภาคเอกชนอาจรับเสี่ยงได้ไม่หมดทั้งจำนวน จึงมีการออกแบบวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงให้รอบด้าน เพื่อช่วยบรรเท่าความเสียหาย
 
ช่วงเดือน ส.ค.2557 ที่ผ่านมา บอร์ดกองทุนเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแนวทางการรับประกันภัยของกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติในกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองอย่างครอบคลุมและเพื่อให้มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เอาประกันและบริษัทประกันภัยในการให้บริการประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง คปภ.และสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ร่วมปรับปรุงแนวทางรับประกันภัยรูปแบบใหม่เป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย โดยเพิ่มความคุ้มครองจาก 6 ภัยหลักเดิมคือ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยระเบิด ภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยานและภัยจากน้ำ(ไม่รวมน้ำท่วม) ซึ่งความคุ้มครอง 4 ภัยเพิ่มเติมคือ ภัยจากลมพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหวและลูกเห็บ รวมเป็นทั้งหมด 10 ภัย
 
นางสาวเดือนเด่นกล่าวว่าคณะทำงานได้เสนอกรมธรรม์ประกันภัยบ้านอยู่อาศัยแบบใหม่เข้าไปให้ คปภ.พิจารณาอนุมัติแล้ว โดยใน 6 ภัยเดิมนั้น จะคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขของกองทุน แต่อีก 4 ภัยเพิ่มใหม่นั้น กรมธรรม์จะจ่ายชดเชยทันทีที่ทรัพย์สินเสียหาย โดยไม่ต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขเป็นภัยพิบัติตามที่กองทุน เคยกำหนดไว้ว่าจะจ่ายชดเชยให้ต่อเมื่อมีการเรียกร้องค่าสินไหมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท หรือเดิมถ้าเป็นกรณีแผ่นดินไหว ต้องเป็นระดับ 7 ริกเตอร์ขึ้นไปและลมพายุที่ระดับความเร็วลม 120 กม./ชั่วโมงขึ้นไป
 
ส่วนเบี้ยประกันภัยจะคิดตามพิกัดอัตราเบี้ยอัคคีภัยให้ความคุ้มครองในวงเงินที่ระบุในกรมธรรม์และในส่วนความคุ้มครองเพิ่มเติมภัยธรรมชาติ 4 ภัยคิดเบี้ยประกันภัย 100 บาทคุ้มครองสูงสุด2 หมื่นบาทต่อภัย/ปี โดยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่บริษัทประกันภัยสามารถพิจารณารับความเสี่ยงไว้เองโดยไม่ต้องเอาประกันภัยต่อกับกองทุน ซึ่งจะมีผลใช้ใน 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป
 
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย