คปภ.จับมือ ธปท.รอลงดาบ เชือดแบงก์-ประกันพ่วงสินเชื่อ

 
ช่วงหลายปีผ่านมา ตลาดแบงก์แอสชัวรันส์เฟื่องฟูสุดขีด เฉพาะอย่างยิ่งด้านประกันชีวิต กระทั่งผงาดขึ้นกุมส่วนแบ่งเบี้ยประกันในระบบรวมกว่า 70%แต่เนื้อในยังคงเต็มไปด้วยปัญหาสะสมที่หน่วยงานเกี่ยวข้องยังแก้ไม่ตก นั่นคือ การบีบบังคับผู้บริโภคให้ซื้อประกันพ่วงสินเชื่อในกรณีการกู้ขอสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยตักเตือนผู้ประกอบการแบงก์พาณิชย์อยู่เนืองๆว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะนายทะเบียนที่อนุญาตให้แบงก์เป็นนายหน้าขายประกันได้นั้น ยังไม่สามารถเทคแอคชั่นได้อย่างเต็มที่เช่นกัน โดยระบุแค่ว่าเพราะยังไม่เคยมีผู้ร้องเรียนหรือได้รับความเสียหายแจ้งเข้ามาพร้อมหลักฐานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
นางสาววราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการ คปภ.กล่าวยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ต้องดูด้วยว่าผู้บริโภคให้ความยินยอมที่จะซื้อประกันผ่านแบงก์ที่ไปขอสินเชื่อเอง หรืออนุมัติบัตรเครดิต อาจเพราะเหตุผลต่างๆ เช่น เชื่อมั่นในฐานะการเงิน ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆ อัตราเบี้ยประกันภัยและสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองคุ้มค่าเหมาะสม การให้บริการและความสะดวก กรณีนี้ถ้าผู้บริโภคร้องเรียนภายหลัง จะไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าได้ให้ความยินยอมไปแล้ว
ทว่า เพื่อให้มีมาตรฐานในการกำกับและคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มข้นมากขึ้น เร็วๆนี้ คปภ.เตรียมหารือกับทาง ธปท.เพื่อร่วมกำหนดแนวปฏิบัติที่เฉียบขาดและเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าเดิม ที่นอกเหนือจากคำเตือนทั่วไป ซึ่งในฐานะ คปภ.เป็นนายทะเบียนที่อนุญาตให้แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐเป็นนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัยได้นั้น ย่อมสามารถลงโทษนายหน้าที่ทำผิดเงื่อนไขและทำผิดจรรยาบรรณได้เช่นเดียวกับนายหน้าประกันภัยอื่นๆในระบบ
โทษสถานเดียว คือ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตนายหน้าประกอบธุรกิจได้ทันที โดยไม่ต้องตักเตือน หรือปรับก่อน แต่ผู้ร้องเรียนต้องมีหลักฐานที่ถูกต้องมาแสดงด้วยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง ซึ่งจากนี้ไป ธปท.และ คปภ.จะบูรณาการร่วมกันมากขึ้น เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของผู้บริโภค”
นางสาววราวรรณกล่าวว่ากรณีนี้จะต่างกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่เปิดกว้างให้ลูกค้ายื่นกู้สินเชื่อผ่านแล้ว สามารถเลือกบริษัทประกันได้ตามต้องการ ทั้งประกันชีวิตคุ้มครองหนี้ (MRTA) และประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัย โดยไม่ได้บังคับว่าลูกค้าต้องเลือกบริษัทที่มาตั้งโต๊ะ ณ วันที่ยื่นกู้ก็ได้ ถือว่าเป็นธรรมกับผู้บริโภค
ส่วนการบังคับให้ลูกค้าที่ต้องการเช่าตู้นิรภัยของแบงก์ต้องซื้อประกันชีวิตด้วยนั้น ถือว่าเป็นความผิดของแบงก์ในฐานะเป็นนายหน้าที่นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกันชีวิตในเครือไปขาย ซึ่งผู้บริโภคต้องร้องผ่าน ธปท. จากนั้นจะได้มาหารือร่วมกับ คปภ.ต่อไป
แหล่งข่าวในวงการประกันชีวิต ระบุเพิ่มเติมว่าเงื่อนไขของการเป็นนายหน้านิติบุคคล กำหนดให้นายหน้าสามารถส่งงานให้บริษัทประกันชีวิต และหรือบริษัทประกันวินาศภัยได้ไม่ต่ำกว่า 3 แห่ง แต่ทางปฏิบัติมักพบว่าบริษัทประกันที่มีแบงก์ถือหุ้นใหญ่จะได้รับงานจากธุรกรรมของแบงก์เป็นหลัก จนสามารถสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับแบงก์สูงมาก
รายงานข่าวจาก ธปท.ระบุว่าตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกประกาศให้แบงก์พาณิชย์ที่เป็นนายหน้าทั้งหมด ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอและเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ได้แก่ 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง 2.สิทธิที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างอิสระ 3.สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม และ 4.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาค่าชดเชย หากเกิดความเสียหาย
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธปท.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และประกันภัยของแบงก์พาณิชย์เป็นระยะๆ เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ของแบงก์เสนอขายประกันชีวิตพ่วงกับบริการตู้นิรภัย การให้สินเชื่อ หรือการให้ผู้บริโภคซื้อหน่วยลงทุน ตราสารหนี้ หรือทำประกันชีวิตแทนการฝากเงิน โดยไม่ได้ชี้แจงถึงความเสี่ยงหรือให้ข้อมูลต่อผู้บริโภคไม่ชัดเจน ซึ่ง ธปท.เห็นว่าเรื่องร้องเรียนเหล่านี้อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ทั้งนี้การเสนอขายผลิตภัณฑ์ของแบงก์พาณิชย์จะต้องแสดงความแตกต่างให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนระหว่างผลิตภัณฑ์หลักของแบงก์กับผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัย เช่น เงินฝากกับประกันชีวิต เงินฝากกับตั๋วแลกเงิน โดยต้องแสดวงให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยนั้น ไม่ใช่เงินฝาก จึงอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนไม่เต็มจำนวนเมื่อไถ่ถอน
แบงก์พาณิชย์ต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของผลิตภัณฑ์และผลตอบแทนที่ผู้บริโภคจะได้รับ รวมถึงทรัพย์สินอื่นใดที่ได้รับนอกจากดอกเบี้ย เช่น ในรูปอัตราผลตอบแทนรายปี หรืออัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของโครงการ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนและสมมติฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเปิดเผยความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคสนใจจะลงทุนอย่างเพียงพอและโปร่งใส
ที่สำคัญ ห้ามแบงก์พาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของแบงก์พาณิชย์ หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการขายหรือให้บริการผลิตภัณฑ์หลัก เช่น ให้ผู้บริโภคทำประกันภัยกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพื่อเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาการให้สินเชื่อ หรือให้ผู้บริโภคทำประกันชีวิตก่อนเมื่อขอใช้บริการเช่าตู้นิรภัย โดยแบงก์ต้องให้สิทธิแก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองและเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคปฏิเสธการซื้อผลิตภัณฑ์ได้
แบงก์พาณิชย์ต้องรักษาข้อมูลของผู้บริโภคไว้เป็นความลับและห้ามให้ข้อมูลผู้บริโภคแก่หน่วยงานอื่น รวมถึงบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.เพื่อนำไปใช้เสนอขายบริการอื่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลผู้บริโภคที่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้บริโภค แบงก์ต้องแยกคำยินยอมของผู้บริโภคออกจากสัญญาการซื้อผลิตภัณฑ์และต้องมีการระบุรายชื่อบริษัทอื่นที่จะนำข้อมูลไปใช้และวัตถุประสงค์ของการใช้ข้อมูลของผู้บริโภคนี้ เว้นแต่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. สามารถให้คำยินยอมเป็นกลุ่มธุรกิจทางการเงินได้ โดยไม่ต้องระบุวัตถุประสงค์การใช้ข้อมูล
ดังนั้น ธปท.จึงหารือกับ คปภ.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมออกแนวนโยบาย เพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคและกำหนดหน้าที่ให้แบงก์พาณิชย์ปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
ที่มา : มิตรแท้ประกันภัย